พระพุทธรูป

รวม 7 พระพุทธรูปมงคล ประจำวันเกิด

ในยุคที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย ความฝืดเคืองทางเศรษฐกิจ ยุคที่เกิดโรคระบาด รวามถึงปัญหาอื่นๆอีกมากมายนั้น หลายคนจึงเกิดความกลัว ความวิตกกังวล ส่งผลกระทบต่อจิตใจ ทางเลือกที่ช่วยฮีลใจให้กับหลายๆคนได้นั้น หนีไม่พ้นการเข้าวัดทำบุญสงบจิตใจ และเมื่อเราได้ไปทำบุญที่วัด

การกราบไหว้รวมถึงการปิดทองพระประจำวันเกิดนั้น ก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่นิยมกันเป็นอย่างมาก โดยในวัดก็มักมีการจัดพื้นที่ และจัดเตรียมพระประจำวันเกิดไว้ให้ทุกคนได้กราบไหว้ ซึ่งพระประจำวันเกิดในแต่ละวันนั้น ก็จะมีอิริยาบถแตกต่างกันไป จะมีพระพุทธรูปปางไหนประจำวันไหนบ้าง ไปดูกันเลย

วันอาทิตย์ พระประจำวันเกิด : ปางถวายเนตร

ปางถวายเนตร

เป็นพระพุทธรูปที่อยู่ในอิริยบทยืนลืมพระเนตรเพ่งตรงไปข้างหน้า ในส่วนของพระหัตถ์ทั้งสองนั้นห้อยลงมาประจบกันอยู่บริเวณหน้าพระเพลา ( ตัก ) คล้ายท่ายืนสงบนิ่ง

พระหัตถ์เบื่องขวาซ้อนอยู่บนพระหัตถ์เบื่องซ้ายอยู่ในอาการสังวรทอดพระเนตรต้นพระศรีมหาโพธิ์ ประวัติของพระพุทธรูปปางถวายเนตรนั้น เกิดขึ้นหลังจากที่พระบรมโพธิสัตว์ได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้วได้ประทับเสวยวิมุตติสุข (สุขที่เกิดจากความหลุดพ้น) ณ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ 7 วัน จากนั้นเสด็จไปทรงยืนอยู่กลางแจ้ง ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทรงยืนทอดพระเนตรต้นพระศรีมหาโพธิ์ ตลอด 7 วัน โดยไม่พระพริบพระเนตร สถานที่นั้นได้มีนามว่า “อนิมิสเจดีย์”

วันจันทร์ พระประจำวันเกิด : ปางห้ามญาติ หรือปางห้ามสมุทร

ปางห้ามสมุทร

พระพุทธรูปปางนี้มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปยืนยกพระหัตถ์ขวาเพียงข้างเดียวในระดับเสมอหน้าอกแสดงถึงกิริยาห้าม

ส่วนปางห้ามสมุทรนั้นจะมีลักษณะที่แตกต่างกันคือจะยกพระหัตถ์ทั้งสองข้างขึ้นมา
ประวัติของพระพุทธรูปปางห้ามญาติหรือปางห้ามสมุทรนั้น เกิดขึ้นเมื่อครั้งเหล่ากษัตริย์ในตระกูล “ศากยวงศ์” พระญาติฝ่ายพุทธบิดา และเหล่ากษัตริย์ในตระกูล “โกลิยวงศ์” พระญาติฝ่ายพุทธมารดา เกิดการทะเลาะวิวาทกัน เรื่องแย่งน้ำในแม่น้ำโรหิณี เนื่องจากฝนแล้ง จนเกือบกลายเป็นสงครามระหว่างกัน

พระพุทธเจ้าจึงเสด็จไปห้ามสงคราม และได้ตรัสเตือนสติว่า ระหว่างน้ำกับความเป็นพี่น้องอะไรสำคัญกว่ากัน ทั้งสองฝ่ายจึงได้สติ และขอพระราชทานอภัยโทษต่อเบื้องพระพักตร์พระพุทธองค์

วันอังคาร พระประจำวันเกิด : ปางไสยาสน์

ปางไสยาสน์

พระพุทธรูปปางนอนตะแคงขวา พระหัตถ์ขวาตั้งขึ้นรับพระเศียร พระบาททั้งสองข้างซ้อนทับเสมอกัน

ตำนานปางนี้มาจากตอนที่พระพุทธเจ้าประทับบรมทมแบบสีหไสยาส์ใต้ต้นรังก่อนจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ปางไสยาสน์ในทางสากล กล่าวคือ ในวัฒนธรรมต้นทางที่อินเดียและดินแดนโดยรอบ หมายถึง พุทธลักษณะขณะปรินิพพาน[1] โดยแสดงภาพพระพุทธองค์นอนตะแคงเบื้องขวา หลับพระเนตร พระเศียรหนุนพระเขนย พระหัตถ์ซ้ายทอดทาบไปตามพระวรกาย พระหัตถ์ขวาวางหงายอยู่ข้างพระเขนย พระบาทซ้ายทับซ้อนพระบาทขวา หลักฐานสำคัญ

เช่น ถ้ำอชันตาในประเทศอินเดีย ซากพุทธสถานแห่งตัขต์ภาอีและซากนครใกล้เคียงที่ซาห์รีบาห์ลอลในอดีตแคว้นคันธาระในประเทศปากีสถานในปัจจุบัน และนครโบราณโปโลนนรุวะในศรีลังกา

วันพุธ ( กลางวัน ) พระประจำวันเกิด : ปางอุ้มบาตร

ปางอุ้มบาตร

พระพุทธรูปปางอุ้มบาตรนั้น มีลักษณ์ที่คล้ายกับพระพุธรูปปางสมาธิ แต่จะมีลักษณะในท่ายืน พระหัตถ์สองข้างประคองถือบาตร

โดยพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรนั้นเกิดขึ้นเมื่อครั้งพระพุทธเจ้า ได้แสดงเวาสันดรชาดกโปรดพระประยูรญาติแล้ว ต่างลากลับสู่พระราชสถานที่พัก แต่ไม่มีใครทูลนิมนต์พระพุทธองค์ให้รับภัตตาหารเช้า จนในวันรุ่งขึ้นพระพุทธองค์ทรงทราบด้วยพระญาณว่า พระพุทธเจ้าในอดีตเมื่อเสด็จมาประทับ ณ พระนครของพุทธพระบิดา ตามพุทธประเพณีได้เสด็จบิณฑบาตเพื่อโปรดมหาชน พระพุทธองค์จึงเสด็จออกบิณฑบาตตามพุทธประเพณี และมีความปีตียินดีประณมหัตถ์นมัสการ

นับเป็นครั้งแรกที่ชาวเมืองกบิลพัสดุ์ได้เห็น พระบรมศาสดาทรงอุ้มบาตร เสด็จพระพุทธลีลาโปรดประชาสัตว์ เป็นการเพิ่มพูนความปีติ โสมนัส พระพุทธจริยาตอนนี้เป็นเหตุให้พุทธบริษัทสร้างพระพุทธรูป เรียกว่า ปางอุ้มบาตร

วันพุธ ( กลางคืน ) พระประจำวันเกิด : ปางป่าเลไลยก์

ปางเลไลยก์

ลักษณะเป็นพระพุทธรูปนั่งประทับบนก้อนศิลา พระหัตถ์ซ้ายวางคว่ำบนเข่า ส่วนพระหัตถ์ขวาหงาย มีช้างหมอบใช้งวงจับกระบอกน้ำและลิงถือรวงผึ้งถวายรับใช้

ตำนานของปางป่าเลไลยก์นั้นเกิดที่เมืองโกสัมพี พระสงฆ์เกิดแตกสามัคคีไม่ยอมอยู่ในพุทธโอวาท พระพุทธเจ้าจึงเข้าไปในป่าปาลิไลยกะเพียงลำพัง มีพญาช้างและพญาลิงมาคอยปรนนิบัติ ต่อมาชาวบ้านไม่พบพระพุทธเจ้าจึงพากันติเตียนหมู่ภิกษุสงฆ์ เมื่อพระภิกษุเหล่านั้นสำนึกผิดจึงได้ไปทูลเชิญพระพุทธเจ้ากลับมา

วันพฤหัสบดี พระประจำวันเกิด : ปางสมาธิ

ปางสมาธิ

ลักษณะเป็นพระพุทธรูปนั่งสมาธิพระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้ายวางซ้อนกันอยู่บนพระเพลา

ความเป็นมาของปางสมาธิเกิดขึ้นตอนที่ทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เมื่อวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปางนี้จึงเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์นั้น เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าปางตรัสรู้

วันศุกร์ พระประจำวันเกิด : ปางรำพึง

ปางรำพึง

ลักษณะพระประจำวันเกิดวันศุกร์เป็นพระพุทธรูปประทับยืน พระหัตถ์ทั้งสองประสานกันบนพระอุระ (อก) ในลักษณะพระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย

ตำนานความเป็นมาเกิดขึ้นเมื่อพระพุทธเจ้ายืนรำพึงพิจารณาธรรมที่ได้ตรัสรู้ใต้ต้นไทรว่าละเอียดลึกซึ้งและยากเกินกว่ามนุษย์จะเข้าใจ จึงเกิดความคิดว่าจะไม่เผยแพร่ธรรม ท้าวสหัมบดีพรหมกราบทูลอาราธนาให้แสดงธรรมคำสอน พระองค์จึงหันกลับมาสั่งสอนธรรมให้แก่มนุษย์

วันเสาร์ พระประจำวันเกิด : ปางนาคปรก

ปางนาคปรก

ลักษณะเป็นพระพุทธรูปนั่งเหมือนปางสมาธิ แต่มีพญานาคขนดร่างเป็นบัลลังก์และปรกแผ่พังพานเหนือพระเศียร

ตำนานของพระปางนาคปรกนั้นเมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ตรัสรู้และเสวยวิมุตติสุขใต้ต้นจิก เกิดฝนตกลงมาไม่หยุด พญามุจลินท์นาคราชมาแสดงอิทธิฤทธิ์เข้าไปวงขนด 7 รอบ แล้วแผ่พังพานปกคลุมพระพุทธเจ้าไม่ให้โดนฝน รวมถึงป้องกันสัตว์ร้ายต่าง ๆ ไม่ให้เข้ามากล้ำกราย

เชื่อว่าหลายท่านคงทราบกันดี ว่าตนเองนั้นเกิดวันอะไร และเชื่อว่าหากเหล่าบรรดาพ่อค้าแม่ค้าได้ทำบุญปิดทองพระตามวันเกิด หรือมีโอกาสเช่าบูชามาไว้ที่ร้านของท่าน จะทำให้ชีวิตร่วมถึงธุรกิจเจริญรุ่งเรือง เกิดความสบายกายสบายใจตามมาอย่างแน่นอน

Shopping Cart